เพื่อนคนเก่ง
เล่าถึงความสัมพันธ์ของเด็กผู้หญิงสองคนที่เติบโตมาด้วยกันในชุมชนยากจนชานเมืองเนเปิลส์ช่วงปลายทศวรรษ 1950 ผู้เขียนเจาะลึกลงไปในธรรมชาติแสนซับซ้อนของมิตรภาพประหลาดล้ำ ซึ่งความดีกับความเลว ความรักกับความชัง ความหวังดีกับการคิดร้าย เปลี่ยนที่ทางกันไปมาในตัวละครเอกทั้งสองตั้งแต่เด็กจนถึงวัยรุ่น นอกจากนั้นยังบอกเล่าเรื่องราวชีวิตอันเข้มข้นของผู้คนในชุมชน ที่ต่างมีความลับ ความขัดแย้ง ความอิจฉาริษยา การทรยศหักหลัง และกฎเดียวที่พวกเขารู้จัก คือกฎแห่งความรุนแรง
เอเลนา แฟร์รานเต (Elena Ferrante) เป็นนามปากกาของนักเขียนร่วมสมัยชาวอิตาลีที่ไม่มีผู้ใดรู้จักนามจริง ผลงานชุด L’amica geniale (My Brilliant Friend) หรือ เพื่อนคนเก่ง ได้รับความนิยมไปทั่วโลก มียอดขายกว่า 10 ล้านเล่ม ในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวยอดขายสูงถึง 2 ล้านเล่ม HBO ได้นำผลงานชุดนี้ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ซีรีส์ และจะเริ่มแพร่ภาพในเดือนพฤศจิกายน 2018
นิตยสาร TIME ยกย่องให้เอเลนา แฟร์รานเตเป็นหนึ่งในบุคคลทรงอิทธิพลที่สุดของปี 2016
Reviews
“ฉันอ่าน เพื่อนคนเก่ง เล่มนี้รวดเดียวจบพร้อมๆ กับจำอดีตของตัวเองขึ้นมาได้ในเวลาเดียวกัน”
— ทราย เจริญปุระ คอลัมน์ รักคนอ่าน มติชนสุดสัปดาห์ 7 มิ.ย. 2561
“ทำไมเวลาอ่านหนังสือสนุกๆ บางเล่ม แล้วหัวใจมันพองโต…เขาเก่งตรงที่เล่ารายละเอียดต่างๆ ของเหตุการณ์แล้วร้อยมันต่อกันไปเรื่อยๆ จากเรื่องหนึ่งไปยังเรื่องหนึ่ง เหตุการณ์สั้นๆ เล่าอย่างกระชับ คัดออกมา เล่าถึงมันอย่างตรงไปตรงมา แล้วจึงเสริมความนัยว่าส่งผลอย่างไรต่อความรู้สึกนึกคิดภายในของตัวละคร แล้วจะส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของเรื่องราวภายหน้าแบบไหน อย่างไร…การเล่านี้ไม่ได้แสดงอิทธิปาฎิหาริย์ทางภาษาอันใดเลย แต่มันจับใจเหลือเกิน ความเก่งกาจของผู้เขียนคือการเลือกมุมมองที่จะเล่าออกมา มุมที่เล่าหากให้คนอื่นมอง ก็อาจจะนำเสนอเรื่องไปอีกทางหนึ่ง” …อ่านต่อ
— ภาณุพงศ์ เชยชื่น นักเขียน ผู้เขียน “รักจนเป็นเรื่อง” และ “สัตว์สตัฟฟ์สีเทา
“มันมีมวลความรู้สึกบางอย่างของเด็กผู้หญิงในความเป็นเพื่อน ทั้งรัก ทั้งชัง ทั้งอิจฉา ปะปนให้สับสน เราเองอ่านเเล้วก็นึกถึงตัวเองในวัยเด็ก ไม่เเปลกบางทีเราก็รู้สึกอิจฉาเพื่อน ทำไมสูงกว่า ทำไมโดดยางเก่ง ทำไมเพื่อนเรียนวิชาพละได้ดี เชื่อว่าเด็กผู้หญิงหลายคนเป็นเเบบนี้ ผู้เขียนเขียนเเละถ่ายทอดความเป็นเด็กผู้หญิงออกมาได้ดีมากๆ” …อ่านต่อ
— เพชรลัดดา แก้วจีน
“เพื่อนคนเก่ง นิยายที่ฉายภาพการเติบโตและการหล่อหลอมตัวตนของหญิงสาวสองคน เลนูและลิลา รวมทั้งเล่ห์กลระหว่างกันของเพื่อนรักเพื่อนแค้น กลายเป็นนิยายที่สร้างปรากฏการณ์ชักนำให้ผู้คนคิดถึงและอยากไปเยือนเมืองเนเปิลส์เพื่อตามรอยเด็กสาวทั้งสองคน” …อ่านต่อ
— แมท ช่างสุพรรณ
“…และผ่านความสัมพันธ์ของทั้งสองนี่เอง ที่เราก็ได้เห็นถึงสภาพสังคมอิตาลี และปัญหาต่างๆ ที่ชนชั้นล่างต้องแบกรับ เช่น การไม่มีทุนมากพอในการต่อยอดทางการศึกษาให้กับลูกๆ แม้จะรับรู้ได้ว่า เขาหรือเธอมีความสามารถ หรือการที่ความเหลื่อมล้ำกลายเป็นอุปสรรคทั้งเรื่องความรัก และการเลือกเส้นทางชีวิต เพราะทุกอย่างคล้ายจะถูกกำหนดขึ้นเรียบร้อยแล้วภายใต้ข้อจำกัดของความยากจน” …อ่านต่อ
— คาลิล พิศสุวรรณ
“ข้าพเจ้าผ่านส่วน ‘อารัมภบท’ ด้วยความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องราว ก่อนจะถูกดึงให้เฉื่อยช้าในบท ‘วัยเด็ก’ กำลังปรับทัศนคติของตนในโลกวัยเด็กของตัวละครที่ห่อหุ้มด้วยของที่มา ‘ก่อนเรา’ ก่อนจะพบว่าตนตื่นตาตื่นใจไปกับเสียงเล่าเรียบๆ แต่ทำให้เห็นการเติบโตทั้งข้างในและข้างนอกของตัวละครในบท ‘วัยรุ่น’ ลำคอที่ค่อยๆ ระหง ระดูที่มากับความไม่เข้าใจ หน้าอกที่ค่อยๆ เต่งตูม ขนที่อวัยวะเพศ ข้อเท้าที่ค่อยๆ อวบอิม ผิวซีดขาวที่แสดงถึงความอมทุกข์ จูบแรกของเด็กสาว การถูกลูบคลำหน้าอกและหว่างขา อะไรเหล่านี้ถูกบรรยายออกมาแบบเรียบง่ายแต่โคตรลึกซึ้ง” …อ่านต่อ
— วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์ นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ way magazine ผู้เขียนนวนิยาย ‘อนุสรณ์สถาน’
“ตัวละครมีเสน่ห์มาก เรื่องเล่าเรียบๆ เหมือนชีวิตประจำวัน แต่ความรุนแรงที่เป็นแกนหลักของชุมชนในเนเปิลส์ก็ช่างมีชีวิตชีวา แม่ๆ ทะเลาะตบตีกัน เด็กหญิงเด็กชายปาหินใส่กัน พ่อบันดาลโทสะเหวี่ยงลูกสาวลงมาจากหน้าต่างชั้นสอง นอกนั้นยังอึงอลไปด้วยการปะทะคารม ตาต่อตาฟันต่อฟัน ถ้าใครมารุ่มร่ามกับน้องสาวหรือผู้หญิงของฉัน มันก็จะโดนตีน ฯลฯ” …อ่านต่อ
— ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
“ทั้งลิลาและเลนู แม้จะเป็นสองชีวิตจริงๆ แต่ก็มีสัมผัสนัวๆ ให้อารมณ์ ‘คู่เหมือน’ แบบเป็น Doppelganger ของกันและกัน คือพื้นที่ของเรื่องเล่ามันเปิดกว้างๆ สบายๆ ให้มองแบบนี้ก็ได้ เพราะมีการแลกเปลี่ยน เคลื่อนย้าย และสวมรอยประสบการณ์กันและกันไปตลอดเรื่อง ให้สัมผัสอ่อนบางและนุ่มเนียน” …อ่านต่อ
— อุทิศ เหมะมูล
“ผู้เขียนสามารถเล่าทั้งหมดออกมาได้อย่างสนุกสนาน ชวนติดตาม ใส่ความรู้สึกให้เราจนเรามีชีวิตไปพร้อม ๆ กับพวกเขา” …อ่านต่อ
— ธวัช งานรุ่งเรือง